บนทางเปล่าเปลี่ยวและยากลำบาก

#บทเรียนชีวิตที่จิตแพทย์อยากบอก แปลจากหนังสือชื่อ #the_Road_Less_Traveled เขียนโดย คุณหมอ M. Scott Peckm, M.D. และแปลโดย #วิทยากร_เชียงกูล (แค่ชื่อผู้แปลก็ไม่ธรรมดาแล้วครับ)

หนังสือเล่มนี้มีอายุ 40 ปี เขียนออกมาตั้งแต่ปี 1978 แต่เป็นหนังสือจิตวิทยาที่ Classic เนื้อความยังคงใช้ได้อยู่ เป็นหลักการที่เป็นสากลไม่ขึ้นกับยุคสมัย วันนี้ก็ยังควรอ่าน

เราได้ยินจาก Podcast หนึ่ง หยิบเอาตอนหนึ่งของหนังสือมาอ่านให้ฟัง ก็ประทับใจในความจริงที่คุณหมอเขียนเตือนสติไว้ แต่ก็ไม่คิดว่าจะหาซื้อได้อีก จนไปเจอในร้านหนังสือเป็นฉบับที่พิมพ์ปี 2018 503173.jpg

 

หนังสือแบ่งเรื่องออกเป็น 4 หัวข้อใหญ่ คือ

  1. Discipline – วินัย
  2. Love – ความรัก
  3. Growth & Religion – ความเจริญและศาสนา
  4. Grace – พลังศักดิ์สิทธิ์

บทแรกเขียนได้ดีมากๆ ดีจนที่เหลืออีกสามหัวข้อนั้นข้ามไม่อานไปเลยก็ยังรู้สึกว่าเกินคุ้มค่าหนังสือแล้ว

ไม่ได้แปลว่าหัวข้อที่เหลือไม่ดีนะครับ มันช่วยเติมเต็มจนครบองค์ประกอบทั้งหมดที่ผู้เขียนต้องการจะถ่ายทอดให้ผู้อ่านรับทราบ

ไม่คล้ายการพูดถึงเรื่องที่เรารู้อยู่แล้ว

เป็นเรื่องที่เราประสบอยู่ทุกวันแต่ก็มักง่ายกับมันทุกวัน หนังสือชี้ประเด็นที่ทำให้เราตระหนักถึงความชุ่ยของตัวเราเอง ไม่บ่อยนักที่จะมีหนังสือมาเตือนสติให้เราฉุกคิดถึงความมักง่ายของตัวเราเองได้จริงๆ จังๆ

อาจารย์วิทยากรท่านแปลเนื้อหาออกมาได้ดีและทรงพลัง อดไม่ได้ที่จะคัดลอกบางส่วนบันทึกไว้บ้าง เพื่อประโยชน์แก่ตนเองเองในการได้กลับมาทบทวน

 

Discipline – วินัย

ชีวิตเป็นเรื่องยาก การเผชิญหน้าและแก้ไขปัญหาที่เราพบนั้นทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด ในขณะเดียวกันกระบวนการเผชิญและแก้ไขปัญหาก็ทำให้ชีวิตมีความหมาย ปัญหาจึงเป็นจุดสูงสุดที่ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างความสำเร็จและความล้มเหลว และ วินัยคือเครื่องมือพื้นฐานชุดหนึ่งที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาของชีวิต วินัยประกอบด้วยวิธีการ 4 อย่าง คือ การรู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน, การยอมรับความรับผิดชอบ, การยึดถือความจริง, และ การรักษาความสมดุล

การรู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน (Delaying of Gratification) คือจัดลำดับความเจ็บปวดและความพอใจของชีวิต ในแบบที่จะเพิ่มพูนความพอใจโดยเลือกความยากลำบากก่อน การเลือกเผชิญทุกข์ในปัจจุบันเพื่อผลที่น่าพอใจในอนาคต  การเพิกเฉยต่อปัญหาเป็นสัญญาณของการไม่พร้อมที่จะอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ยิ่งทิ้งปัญหาไว้นานเท่าไหร่ ปัญหาก็จะยิ่งใหญ่ขึ้น ปัญหาไม่สามารถหมดไปได้เอง เราต้องหาทางแก้ไขมัน   

การยอมรับความรับผิดชอบ (Acceptance of Responsibility) เราไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ด้วยการหวังว่าจะมีคนอื่นมาแก้ไขให้เรา เราไม่อาจแก้ไขปัญหาชีวิตได้นอกจากต้องลงมือแก้ไข จนกว่าเราจะเข้ามารับผิดชอบแก้ไขมัน ปัญหาของเรา เราต้องรับผิดชอบเอง เราจะแก้ไขปัญหาได้ก็ต่อเมื่อเราพูดว่า “นี่คือปัญหาของเรา มันขึ้นอยู่กับเราที่จะต้องลงมือแก้ไขมัน” คนมากมายต่างหลีกหนีเสรีภาพ เพราะไม่ต้องการเผชิญความรู้สึกเจ็บปวดที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบ เวลาของเราคือความรับผิดชอบของเรา มันเป็นเรื่องของเราคนเดียวที่จะตัดสินใจว่าควรจะใช้เวลาอย่างไร   

การยึดถือความจริง (Dedication to Reality) ยิ่งเราเห็นความเป็นจริงได้ชัดเจนเท่าไหร่ เราก็จะพร้อมรับมือได้ดีขึ้นเท่านั้น การจะสร้างวินัย เราต้องซื่อตรงต่อความจริงอย่างเต็มที่ การเพิกเฉยต่อความจริงหรือข้อมูลใหม่ที่ถูกต้อง เป็นมากกว่าการไม่ยอมรับอย่างเงียบๆ อาจเป็นการปฏิเสธว่าเป็นข้อมูลผิดพลาด ถึงขั้นที่ต่อต้านมัน ครอบงำจนเราปรับเปลี่ยนความจริงเพื่อให้เข้ากับทัศนคติของเรา เมื่อยอมรับความจริงเราจะเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ เพราะไม่ต้องแบกความจำเป็นที่จะต้องปิดบัง ไม่จำเป็นต้องหลบซ่อน ไม่พูดสิ่งที่ไม่จริง และตระหนักว่าการปิดไม่พูดความจริงมีค่าเท่ากับการโกหก

การรักษาความสมดุล (Balancing) รักษาสมดุล ไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง การทำสิ่งต่างๆ อย่างสมดุล คือวินัยที่ให้ความยืดหยุ่นกับเรา การรักษาสมดุล เป็นวินัยอย่างหนึ่ง เพราะการตัดสินใจยอมสละสิ่งใดนั้น เป็นความเจ็บปวด คุณลักษณะของวินัยในการรักษาสมดุล คือ การรู้จักยอมสละเรื่องที่ควรสละในสถานการณ์ที่เหมาะสม คนจำนวนมากไม่ยอมเดินหน้าต่อในชีวิต เลือกที่จะหยุดหลังจากเดินมาระยะหนึ่งเพราะต้องการหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดหากต้องสละบางสิ่งบางอย่างในชีวิต ไม่อาจยอมรับความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้นหากต้องยอมสละบางสิ่งบางอย่าง เขาจึงยึดติดอยู่กับแบบแผนวิธีคิดและพฤติกรรมเก่าๆ ไปตลอดการมีวุฒิภาวะทางจิตใจ ต้องอาศัยความสามารถที่จะสร้างความสมดุลท่ามกลาง ความต้องการ, เป้าหมาย, หน้าที่, และความรับผิดชอบ ทั้งชีวิต เราเรียนรู้วิธีใช้ชีวิต และต้องเรียนรู้วิธีตาย หากเรายอมรับความทุกข์ได้สมบูรณ์เราจะไม่รู้สึกว่ามันเป็นความทุกข์อีก และคนที่ตัดสินใจได้ดีที่สุด คือคนที่เต็มใจจะรับผิดชอบความทุกข์จากการตัดสินใจมากที่สุด เราไม่สามารถได้มันมาโดยปราศจากความทุกข์ 

 

Love – ความรัก 

ความรัก คือ ความตั้งใจจะขยายขอบเขตความเป็นตัวเองออกไป เพื่อความเจริญงอกงามทางจิตใจของตัวเองและผู้อื่น 

สิ่งที่ดูเหมือนความรักนั้นอาจไม่ใช่ความรักเลยก็ได้ และเราจะไม่สามารถรักคนอื่นได้หากเราไม่รักตัวเอง

คนสองคนรักกันเมื่อเขาต่างก็อยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอีกฝ่าย แต่เขาเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน เมื่อเรารักมากขึ้น เรามักจะรู้สึกถ่อมตนมากขึ้น เมื่อเรารู้สึกถ่อมตนมากขึ้น เราจะกลัวการใช้อำนาจมากขึ้น เราจะเริ่มตั้งคำถามว่าฉันเป็นใครถึงจะไปสร้างอิทธิพลเปลี่ยนชีวิตของคนอื่น ฉันมีสิทธิ์อำนาจอะไรที่จะไปตัดสินว่า อะไรที่ดีที่สุดสำหรับลูก สำหรับคู่ครอง สำหรับประเทศชาติ ฉันเป็นใครถึงมาเล่นบทพระเจ้า

 

Growth & Religion – ความเจริญและศาสนา

ไม่มีอะไรที่เกินขีดจำกัดทางวิสัยทัศน์ของเรา วิทยาศาสตร์มีแนวโน้มที่จะปฏิเสธว่า อะไรก็ตามที่เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะเข้าใจ หรือวัดได้ยาก ให้คิดว่าไม่มีจริง แต่ข้อสรุปที่ขัดแย้งระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเป็นจุดร่วมกันระหว่างทั้งศาสนาและวิทยาศาสตร์

ปลดปล่อยการรับรู้ออกจากแนวคิดที่มีมาก่อนหน้าและจากผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นอิสระที่จะรับรู้โลกอย่างที่มันเป็นจริงๆ มองหาปาฏิหาริย์จากเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันทั่วไป โดยยังคงสังเกตและศึกษาบางอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เอาไว้ ขณะเดียวกันก็ไม่ควรปฏิเสธความมีอยู่จริงของปาฏิหาริย์นี้อย่างด่วนสรุป 

 

Grace – พลังศักดิ์สิทธิ์

บทนี้เก๋ตรงที่หยิบเอากฎข้อที่สองของเทอร์โมไดไนมิคที่ระบุว่าพลังงานจะไหลจากจากสถานะที่มีความเป็นระเบียบสูงไปสู่สถานะที่มีความเป็นระเบียบต่ำกว่า (นี่คือเขียนไว้ตั้งแต่ 40ปีที่แล้วนะ) ระบบจักรวาลอยู่จึงอยู่ในกระบวนการที่เสื่อมลงไปเรื่อย

การวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตคือการพัฒนาจากสิ่งมีชีวิตที่ไม่ซับซ้อน อาจเริ่มต้นจากเซลล์เดียว พัฒนาจนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนขึ้น พัฒนาจากความเป็นระเบียบต่ำไปสู่สิ่งมีชีวิตที่มีระบบการทำงานของอวัยวะในร่างกายต่างๆ ที่เป็นระบบระเบียบสูงขึ้น การวิวัฒนาการหรือการเจริญงอกงามของชีวิตนี้จึงเป็นการฝืนธรรมชาติการเสื่อมของจักรวาลตามกฎข้อที่สองของเทอร์โมไดนามิค

ความรักเป็นเจตนารมณ์ที่จะขยายตัวของเราออกไปเพื่อดูแลความเจริญงอกงามของจิตใจของตัวเราเองและผู้อื่น เมื่อเราเจริญงอกงามจากความรัก นั่นก็เป็นเพราะเราลงมือลงแรง เพื่อความก้าวหน้าของมนุษย์ นี่คือปาฏิหาริย์ที่ท้าทายกฎข้อที่สองของเทอร์โมไดไนมิค เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นปาฏิหาริย์ท้าท้ายกฎธรรมชาติของความเสื่อมถอยของจักรวาล เกิดเป็นความเจริญงอกงามของชีวิต 

คนที่มีความเจริญงอกงามที่สูงกว่าจะตระหนักถึงความเกียจคร้านในตนเองได้มากกว่า เมื่อเฉื่อยหรือรู้สึกเนือยๆ กับมันขาดความกระตือรือร้น เขาจะรู้สึกได้ว่ากำลังย่ำอยู่กับที่ จะมีแรงผลักดันให้มุ่งมั่นเข้าต่อสู้กับพลังของความเสื่อมตามธรรมชาตินั้น และการต่อสู้กับความเสื่อมที่ปล่อยไปตามธรรมช่าตินั้นจะต้องทำตลอดต่อเนื่องไปไม่มีวันสิ้นสุด 

 

คัดลอกบางส่วนของหนังสือมาบันทึกไว้อ่านทบทวนเอง เนื้อหาจริงในเล่มมีความลุ้มลึกและให้รายละเอียดมากกว่านี้เยอะครับ น่าจะไปหาอ่านกันดู ไม่เกี่ยงด้วยว่าคนอ่านนับถือศาสนาใด อ่านแล้วนำไปคิดตามปฏิบัติใช้ออก ก็ช่วยสร้างความเจริญทางจิตใจให้ทั้งสิ้น

ครึ่งหลังของหนังสืออาจจะอ่านยากกว่าครึ่งแรกอยู่บ้าง ก็ยังอยากแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะในช่วงสิ้นปี มันจะเหมือนเป็นการให้ของขวัญปีใหม่ให้กับตัวเราเอง

หนังสือเขียนตอนหนึ่งในช่วงท้ายเป็นการสรุปที่ดีมาก ด้วยความสามารถอันจำกัดของเรา เราไม่สามารถเขียนสรุปใดๆ ได้ดีกว่านี้อีก

“การเดินทางสู่ความเจริญงอกงามทางจิตใจ ต้องเดินทางด้วยตัวของเราเอง ไม่มีใครแบกเราไปได้ และแม้ว่าเราจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ การเดินทางสู่ความเจริญงอกงามก็ยังเป็นการเดินทางที่เปล่าเปลี่ยวและยากลำบาก คล้ายกับเราคนเดียวที่หลงทางอยู่ในจักรวาล แต่จะมีพลังศักดิสิทธิ์นั้นช่วยสนับสนุนเรา”

 

Leave a comment